ความรู้เท่าทันคืออะไร
สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเรา หรือพฤติกรรมของเราอย่างไร
การตระหนักรู้เทาทันในตนเอง (self-awareness) เป็นความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งที่เราให้คุณค่า รวมถึงความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเรา หรือพฤติกรรมของเราอย่างไร
เป็นทักษะใหม่หรือไม่
แท้จริงแล้วมนุษย์มีความสามารถในการรับรู้ตนเองได้อยู่กับตัว หิว ร้อน คัน ง่วง คือการรู้ถึงปฏิกิริยาของร่างกาย ความต้องการ แต่อาจยังสื่อสารออกไปได้ไม่หลากหลาย ทารกส่วนใหญ่ใช้การร้องไห้หลังจากรู้ทันและเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่เมื่อโตขึ้นการตระหนักรู้ให้สัดส่วนสำคัญอื่นเพิ่มเติม นอกเหนือจากตนเองไปสู่การตระหนักรู้ความต้อการของผู้อื่น ค่านิยมของสังคมและโลก จนในบางครั้งหลงลืมที่จะรู้เท่าทันตนเองไปในบางชั่วขณะ
ในอดีตพบว่ามีการกระตุ้นทักษะการตระหนักรู้หรือเท่าทันตนเองเพื่อความสุขสงบ ดังที่ได้กล่าวใน สุญญตาวิหารธรรม ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ของพุทธศาสนานิกายมหายานความว่า
ทั้งอยากรอด และอยากตายคือภาระที่ร่างกายมอบให้หัวใจ
ให้ทุกวันของการระลึกรู้ร่างกายนำพาใจเป็นพาหนะไปสู่พระนิพพาน
ทั้งอยากทุกข์ อยากสุข ล้วนเป็นภาระที่หัวใจมอบให้แก่ร่างกาย
ให้ทุกวันของการระลึกรู้หัวใจนำพาร่างกายเป็นพาหนะไปสู่พระนิพพาน
อีกทั้งยังพบทักษะในการสงบตนเองโดยละความคิดจากการเฝ้ามองสายตาและความต้องการของผู้อื่นที่มากเกินไปเพื่อให้ใจสงบนำมาสู่ความตระหนักรู้ต่อตนเอง ดังที่พบในพระคัมภีร์ใหม่ (ไบเบิ้ลโดยนักบุญมัทธิว : มธ.11:28) ความว่า พระเยซูทรงเชื้อเชิญทุกคนที่เป็นเหมือนกับนักดนตรีคนนั้น ที่เหน็ดเหนื่อยและต้องทนทุกข์จากผลของความบาป
ให้มาหาพระองค์เป็นการส่วนตัว พระองค์ตรัสว่า “จงมาหาเรา” เมื่อเราได้รับความรอดในพระเยซู พระองค์จะทรงยกภาระของเราออกและทำให้เรา “หายเหนื่อยเป็นสุข” ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนักจงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน…
เข้าใจความหมายของ การรู้เท่าทัน
สังเกตตนเองโดยรักษาระดับการควบคุมและการแสดงออกอารมณ์ในระดับปกติ คล้ายคลึงกับช่วงเวลาที่เรากำลังก้าวเดินขึ้นบันไดที่มีป้ายกำกับไว้ว่า “ระวังทางต่างระดับ” ซึ่งโดยทั่วไปเราสามารถก้าวเดินต่อไปได้ในจังหวะที่ปกติ ไม่ต้องรู้ทันหรือกำกับตนเองมากไปกว่าธรรมชาติเดิมของตน
แต่ในสถานการณ์คับขันที่มีบางสิ่งเข้ามากระทบกับอารมณ์ “การรู้เท่าทันอาจต้องเพิ่มกำลังในการสังเกตและกำกับให้มากขึ้นกว่าเดิมแต่ไม่มากเกินไปกระทั่งเป็นสิ่งบ่อนทำลายความสุขสงบเสียเอง คล้ายกับการที่รถยนต์ต้องขึ้นทางชันและพบเจอป้ายกำกับ “ทางชันใช้เกียร์ต่ำ” เป็นการเพิ่มกำลังของรถให้มากขึ้นแต่ไม่เกินกว่ากำลังที่แท้จริงของรถที่มีอยู่เพื่อประคองให้รถคันนั้นผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้อย่างปลอดภัย
และที่สำคัญการฝึกความรู้เท่าทันตนเอง ต้องทำด้วยความอ่อนโยน ไร้เงื่อนไข้ในการจับจ้อง หรือตัดสิน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ได้อาจไม่ใช่ความเข้าใจแต่อาจเป็นการกล่าวโทษตนเองโดยไม่รู้ตัว
ทักษะการรู้เท่าเท่าฝึกฝนอย่างไร?
ทักษะการรู้เท่าทันมีหลายวิธีการ ซึ่งมีวิธีการฝึกการเรียนรู้ “ขณะปัจจุบัน” ผ่านการตั้งคำถามกับตนเอง เป็นการช่วยให้เกิดสภาวะ “ตื่นรู้ และเข้าใจปรกฏการณ์บางอย่างกับตนเอง” ในการฝึกบรรยากาศค่อนข้างสำคัญหากสามารถอยู่ในสถานที่สงบ ลดการรบกวนได้จะช่วยให้การเรียนรู้กับตนเองได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคำถามช่วยให้ตกตะกอนสิ่งที่เรียนรู้ชนิดเนื้อหาไปพร้อมๆ กับสิ่งที่สัมผัสได้ ซึ่งชุดคำถามประกอบด้วย
1.ขณะนี้ฉันทำอะไร ลองค่อยๆ ทบทวนตนเองถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ เสมือนกำลังมีกล้องวงจรปิดจับตาดูการกระทำของเราอย่างใกล้ชิดและละเอียด เห็นทุกซอกทุกมุมของการกระทำแม้กระทั่งมือที่กำลังจับปากกาแน่น
2.ขณะนี้ฉันสัมผัสได้ถึงสิ่งใด ก่อนทบทวนตนเอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่าง “ดูกับเห็น ฟังกับได้ยิน” เพราะการสัมผัสคือการปล่อยให้ประสาทสัมผัสของร่างกายทั้ง ตา หู จมูก ช่องปาก ผิวหนัง รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยลดเจตนาที่จะตีความหรือจับจ้อง ทบทวนเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามา อาทิ ปากกาสีแดง ผ้าผืนนุ่ม ลมที่พัดกระทบผิวแขน เป็นต้น
3.ขณะนี้รู้สึกอะไร ความรู้สึกเป็นคำสามัญ ที่พูดกับคนอื่นๆ แล้วพอเข้าใจได้ว่า อีกคนกำลังรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกมีระดับมาก ปานกลาง น้อย หรืออาจมีตัวเลข 1-10 ซึ่งตัวเลขแต่ละตัวของแต่ละคนมีความพิเศษคือไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่การได้รู้ว่าขณะนี้เรากำลังรู้สึกอะไรนับเป็นการเข้าใจตนเองที่ดี
4.ความรู้สึกเมื่อสักครู่มาจากความคิดอะไร ความรู้สึกมีที่มาจากความคิด ซึ่งความคิดจะมาในรูปแบบของประโยคบอกเล่าซึ่งเป็นประโยคที่ใช้บอกกล่าวกับตนเอง ผู้อื่น หรือโลกใบนี้ อาทิ บอกตนเองว่า ฉันแย่ ฉันไม่เก่ง อาจส่งผลต่อความรู้สึกเศร้า มีความคิดว่าโลกนี้น่ากลัว คนบนโลกไม่น่าไว้ใจ อาจส่งผลต่อความรู้สึกหวาดหวั่นและกังวล ดังนั้นการรู้ทันความคิดอาจเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ได้ประโยชน์ในการเผชิญกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
5.ฉันต้องการสิ่งใด ในช่วงเวลาเท่าไหร่ การทบทวนความต้องการของตนเอง ควรเริ่มจากสิ่งที่ง่ายในระยะสั้น เช่น เช้านี้ ฉันต้องการทำสิ่งใด วันนี้ฉันต้องการให้อะไรสำเร็จลุล่วง ก่อนกำหนดสิ่งที่เป็นเรื่องระยะไกลที่มีความยากหรือซับซ้อน เพราะ “ความต้องการ” มักมาจากสิ่งที่ขาดหายและสิ่งที่อยากได้ ซึ่งต้องใช้พลังงานมาก
ฝึกฝนมากขึ้นเพื่อเห็นความสัมพันธ์
เมื่อสามารถระลึกรู้ทันสิ่งต่างๆ ในข้างต้นได้มากขึ้น ชวนฝึกให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้แก่ สถานการณ์ ความคิด ความรู้สึก ร่างกาย และการกระทำ ว่าสิ่งใดก่อให้เกิดสิ่งใด โดยยังมุ่งเน้นการสังเกตและความเข้าใจมากกว่าความพยายามในการจับจ้อง หรือตรวจสอบถูกผิด เพราะหากปล่อยให้เกิดการกระทำเช่นนั้น ระดับอารมณ์ตึงเครียดจะสูงเกินกว่าการเฝ้ามองความสัมพันธ์นั้นด้วยใจเป็นกลาง
อาทิ เมื่อเจอสุนัข มักคิดว่าสุขนัขต้องกัดฉันแน่ๆ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกกลัว ร่างกายตื่นตัวหัวใจเต้นแรง เหงื่อออกตามตัว และวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต
หากเราสามารถเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มากขึ้นก็จะสามารถเข้าใจตนเองได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ฝึกฝนต่อเนื่องเพื่อเห็นรูปแบบความคิดและการกระทำประจำตัว
และเมื่อเราเห็นความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กับการเก็บข้อมูลนั้นตามความเป็นจริงเราจะค่อยๆ รับรู้ได้ถึงรูปแบบความคิดและพฤติกรรมที่เรามักมีต่อเหตุการณ์และความรู้สึกต่างๆ อาทิ เรามักหลีกหนีเมื่อรู้สึกกลัว ไม่ว่าจะเป็นการหนีทางตรงคือการวิ่งหนีสุนัข หรือการเลี่ยงการเผชิญสิ่งที่น่ากังวลใจ อาทิ ผู้ใหญ่ที่ดูน่าเกรงขามและอาจส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของเรา
ปลายทางของความรู้เท่าทันไม่ได้มีเพื่อการพัฒนาตนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อม แต่เพียงเพื่อเข้าใจตนเองและประคองความรู้สึกประจำวันและความรู้สึกต่อตนเองให้สงบเท่าที่จะเป็นไปได้
นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชัน