มนุษย์สายมู : แก้ชง ให้ตรงใจ
ในช่วงที่ชีวิตเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกหวาดหวั่นเข้ามาเป็นเพื่อนในยามหวานอมขมกลืน หัวใจจึงต้องการที่พึ่งพิง หลายคนเลือกพูดคุยปรึกษากับเพื่อนที่คุ้นเคย หลายคนยกพื้นที่ปลอดภัยให้กับวิชาชีพด้านจิตใจ และมีผู้คนไม่น้อยที่เอกวิถีทางจิตวิญาณในการประคองกายประคองใจตนให้พ้นผ่านช่วงวิกฤตของชีวิตแล้วแต่ความเชื่อเดิมของตน ไม่ก็ตามกระแสของการบอกกล่าวกันปากต่อปากของที่พึ่งทางใจ ที่ไหนดี ที่ไหนปัง กระทั่งหลายคนให้ฉายาตนเองว่า “คนสายมู”
การแก้ชงหรือการสะเดาะเคราะห์ถือเป็นวิธีการทางความเชื่อของคนจีนในศาสนาเต๋า ซึ่งตามความเชื่อของคนจีนแล้วดวงชะตาของมนุษย์เรามีโอกาสที่จะขึ้นและลงได้ตามวัฏจักรของธรรมชาติ การแก้ชงตามความเชื่อของคนจีนก็คือการนำดวงชะตาของเราไปฝากไว้กับองค์เทพเจ้าเพื่อให้ท่านคุ้มครองและปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี
เพราะโดยตามคติความเชื่อเทพเจ้าไท้ส่วยหรือเทพประจำปีมีพลังอำนาจในการดูแลตลอดมนุษย์ตลอดทั้งปี ซึ่งหากดวงชะตาของเราไปปะทะกับธาตุของเทพเจ้าประจำปีก็จะทำให้ดวงชะตาเราไม่ราบรื่น มีอุปสรรคต่างๆเกิดขึ้นได้
ในเชิงของปรัชญาอันลึกซึ้งแล้วนั้น การแก้ชงที่เป็นการแสดงถึงความเคารพต่อธรรมชาติซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามวัฏจักรที่ควบคุมไม่ได้เพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสเตือนตนเองผ่าน “การแก้ชง” เป็นการกระทำอย่างมีสติ คือป้องกันและระมัดระวังสิ่งไม่ดีที่ตนจะเป็นผู้กระทำให้เกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสบายใจให้กับตนเองว่าได้มีการฝากดวงชะตาไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วใจจึงสงบพร้อมที่จะใช้ศักยภาพที่ตนมีอย่างเต็มที่ในการก้าวผ่านอุปสรรคตามธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับเวลาเราได้คำทำนายถ้าดีก็ต้องเผื่อใจไว้ครึ่งนึงเผื่อว่าอาจจะไม่ดีในอนาคต ถ้าหากว่าไม่ดีอาจจะมีเรื่องดีรออยู่ข้างหน้าก็ได้ เพราะ “ความหมายโดยแท้ของธรรมชาติคือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้”
神煞紛紛避不過
เสินซ่าเฟินเฟินปี้ปู๋โก้ว์ เสนียดมากมายไม่อาจหลบเลี่ยงได้ |
唯有禳解方為真
เหวยโหย่วหลางเจ่ฟางเหวยเจิน มีเพียงการแก้ไขจึงเรียกว่าว่าทางที่ที่แท้จริง |
ตรงกับหลักการในการจัดการปัญหา (Problem Solving) โดยเริ่มที่กระบวนการสงบระบบสัญชาตญาณ (instinct) เพื่อลดการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่น หรือประมาท และประเมินความเป็นไปได้ก่อนตัดสินใจในการแก้ปัญหา ทั้งยังชวนให้มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสองมิติทั้ง ปัญหา (problem) และความเป็นไปได้ (Possibility) ซึ่งจากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าในช่วงที่มนุษย์มีระดับอารมณ์ที่สงบสามารถมีมุมมองที่เห็นความเป็นไปได้ของสถานการณ์ได้มากกว่าการมองว่าเป็นปัญหา
ซึ่งสอดคล้องกับหลักในการจัดการอารมณ์เพื่อความสงบ (นิพพาน) ในสุญญตาวิหารธรรม ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ของพุทธศาสนาที่ได้กล่าวไว้ว่า
ทั้งอยากรอด และอยากตาย คือภาระที่ร่างกายมอบให้หัวใจ
ให้ทุกวันของการระลึกรู้ร่างกายนำพาใจเป็นพาหนะไปสู่พระนิพพาน (ความสงบ)
ทั้งอยากทุกข์ อยากสุข ล้วนเป็นภาระที่หัวใจมอบให้แก่ร่างกาย
ให้ทุกวันของการระลึกรู้หัวใจนำพาร่างกายเป็นพาหนะไปสู่พระนิพพาน (ความสงบ)
ตรงกับหลักการในการรู้เท่าทันร่างกาย (Body sensation) และรู้เท่าทันความรู้สึก (Emotional naming) ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกทักษะการรู้เท่าทันตนเอง หรือ Self-Awareness ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการจัดการอารมณ์เชิงลบ โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกฝนการรู้เท่าทันตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เคยชินจนเป็นความสามารถดังคำกล่าวที่ว่า “ออกกำลังของกำลังใจให้เหมือนออกกำลังกาย”
หรือแม้แต่ในซีกโลกตะวันตกก็มีวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนมีที่พึ่งพิงด้านจิตใจผ่านวิถีทางจิตวิญาณตามสังคมของคริสต์ศาสนิกชนดังในใจความตอนหนึ่งของพระคำภีร์จากนักบุญมัธธิว (มธ.11:28) ที่ว่า
พระเยซูทรงเชื้อเชิญทุกคนที่เป็นเหมือนกับนักดนตรีคนนั้น ที่เหน็ดเหนื่อยและต้องทนทุกข์จากผลของความบาป ให้มาหาพระองค์เป็นการส่วนตัว พระองค์ตรัสว่า “จงมาหาเรา” เมื่อเราได้รับความรอดในพระเยซู พระองค์จะทรงยกภาระของเราออกและทำให้เรา “หายเหนื่อยเป็นสุข” ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนักจงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน…
ตรงกับหลักการในการจัดการอารมณ์จากภาวะที่มีกระบวนการทางความคิด (Process of though) และเนื้อหาความคิด (Content of thought) จำนวนมาก วกวน หยุดได้ยาก หลักการดังกล่าวคือ Attention Focus คือการย้ายหรือเบี่ยงเบนความสนใจของความคิดไปสู่สิ่งอื่นที่ทรงพลังมากพอที่จะลดความคิดวกวนและการไปสู่เนื้อหาความคิดลึกซึ้งที่อาจประกอบไปด้วยอคติจากอารมณ์ที่ไม่พร้อม พระเยซูที่ทรงเป็นที่เคารพรักทรงมีพลังมากพอที่จะเป็นที่พึ่ง ให้หัวใจได้จดจ่อและนำความทุกข์ใจมาฝากกับพระองค์ไว้ชั่วคราว เมื่ออารมณ์สงบลงผู้คนก็มีพลังกลับมาสู้กับโลกที่วุ่นวายอีกครั้ง
ในบางเวลา..ที่พึ่งทางใจอาจไม่ใช่จิตแพทย์
ในบางเวลา..ที่พึ่งทางใจอาจไม่ใช่นักจิตวิทยา
ในบางเวลา..ที่พึ่งทางใจอาจไม่ใช่จิตวิญญาณใดๆ
ในทุกห้วงเวลา มีตัวเราอยู่เสมอเคียงข้างกับความสุขแบบสมมติ และความสามารถที่จะทุกข์ให้เป็น
Cr.นักพรตธีร โสตสิทธิกำแหง
รองประธานมูลนิธิเต๋าธรรมะสยาม
Cr.เซอร์อักเนสเซ วงษ์ยรรยง ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอะ ชาร์ตร
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น