โรควิตกกังวลคืออะไร อาการโรควิตกกังวลมีอะไรบ้าง ?

โรควิตกกังวลคืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษาโรควิตกกังวล

ในสภาวะสังคมปัจจุบันที่หลายคนต้องประสบปัญหากับ ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางจิตใจ ทั้งในเรื่องของความเครียด ความกดดัน หรือความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตประจำวันไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก หรือผู้ใหญ่ ทำให้อาจทำให้เกิดโรคทางจิตใจที่เรียกว่า โรค Anxiety Disorder หรือ โรควิตกกังวล ที่เป็นโรคที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต่างออกไปจากเดิม โดยปัจจัยหลักของโรควิตกกังวลเป็นโรคที่เกิดจากทั้งพันธุกรรมจากครอบครัว และจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ป่วยโดยตรง

โรควิตกกังวล คืออะไร ?

โรควิตกกังวล คือโรคที่ทางจิตเวช ที่ผู้ป่วยจะมีปัญหาที่เกี่ยวกับด้านของจิตใจ โดยสามารถเกิดได้จากทั้งพันธุกรรมของผู้ป่วย และเกิดจากสาเหตุจากสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งอาการโรควิตกกังวลจะส่งผลเสียให้ผู้ป่วยมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันในทุกด้านทั้งในด้านของการจดจ่อสมาธิ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ โดยโรคนี้ในปัจจุบันผู้ป่วยสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทางโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาบำบัดใจให้หายเป็นปกติได้

สาเหตุโรควิตกกังวลเกิดจากอะไร ?

โรควิตกกังวลเป็นโรคที่มีสาเหตุคล้ายกับโรคทางจิตเวชประเภทอื่น โดยไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของบุคลิกภาพของผู้ป่วยโดยตรง แต่จะเกิดจากอาการเครียดวิตกกังวลจากการใช้ชีวิตแต่ละวัน ที่ต้องพบเจอกับปัญหาต่าง ๆ ที่คอยกดดัน หรือคอยสร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเกิดการสะสมจนกลายเป็นโรควิตกกังวลได้ ซึ่งสาเหตุของโรคยังมีอีกหลายสาเหตุมาก โดยทางการแพทย์จะแบ่งสาเหตุได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. การทำงานที่ผิดปกติของโครงสร้างในสมอง เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคทางจิตเวช จากการวิจัยทางการแพทย์ได้พบว่า ผู้ป่วยโรควิตกกังวลบางคนจะมีโครงสร้างการทำงานที่ผิดปกติ ส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมความรู้สึกด้านอารมณ์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่ควร
  2. เกิดจากกรรมพันธุ์ โรควิตกกังวลสามารถถ่ายทอดได้ผ่านทางพันธุกรรมเช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ 
  3. สิ่งแวดล้อม และสังคมรอบตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อจิตใจ เช่น ความเครียด, ความกดดัน, ความเสียใจ ฯลฯ หากต้องพบเจอกับเรื่องราวเหล่านี้ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้ผู้ที่ต้องพบเจอมีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลได้
  4. ปัจจัยเฉพาะในแต่ละบุคคล เช่น ปัญหาด้านการเงินที่บ้าน, ความขี้อายในวัยเด็ก, โรคประจำตัวบางชนิด เป็นต้น

อาการของโรควิตกกังวลมีอะไรบ้าง ?

โรควิตกกังวลอาการจะขึ้นอยู่ประเภทของโรควิตกกังวลที่ผู้ป่วยประสบอยู่ โดยส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคนี้ผู้ป่วยหลาย ๆ คนมักจะมีอาการที่คล้ายคลึงกัน คือ

  • รู้สึกไม่สงบตลอดเวลา มีความกังวลใจ
  • มีอาการตื่นตระหนก ตกใจ และไม่สบายใจตลอดเวลา
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีอาการคลื่นไส้
  • รู้สึกใจสั่น เจ็บหน้าอก
  • รู้สึกอ่อนล้าไม่มีแรง ทำอะไรก็รู้สึกเหนื่อยง่าย
  • มีปัญหาเรื่องการหายใจ หายใจตื้น 
  • มือเท้าเย็นผิดปกติ หรือมีเหงื่อออกมากว่าปกติ
  • กล้ามเนื้อตึงเกร็ง มีอาการตัวสั่น
  • เป็นเหน็บชาที่มือ และที่เท้าบ่อย

โรควิตกกังวล มีกี่ประเภท ?

โรควิตกกังวลเป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยจะส่งผลให้อาการวิตกกังวลของผู้ป่วยมีอาการที่แสดงออกมาต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในทางการแพทย์จึงจะแยกประเภทของผู้ป่วยโรควิตกกังวลเป็นหลายประเภท โดยจะมีชื่อเรียกแต่ละประเภท ดังนี้ 

โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)

อาการของผู้ป่วยโรควิตกกังวลแบบทั่วไป จะพบว่ามีอาการวิตกกังวลเครียดที่มากเกินกว่าเหตุ มักจะเกิดความหวาดระแวงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดความคิดนี้ได้ จนเกิดเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน และยังเป็นประเภทที่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้าร่วมด้วยได้

โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia)

เป็นชื่อเรียกของผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่มีอาการหวาดกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก เช่น สถานที่, สิ่งของ, สังคม เป็นต้น โดยทางการแพทย์จะแยกประเภทของผู้ป่วย โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจงได้อีก 2 ประเภท คือ

  1. โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อย โดยอาการวิตกกังวลของผู้ป่วยโรคนี้ จะมีความรู้สึกกลัวเฉพาะอย่างเช่น กลัวหนอน, กลัวจิ้งจก, กลัวความสูง เป็นต้น
  2. โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ผู้ที่ป่วยโรคนี้จะรู้สึกหวาดกลัวเมื่อตนเองอยู่ในสถานที่ที่ตัวเองรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไม่สามารถออกจากสถานที่นั้นได้ เช่น กลัวการอยู่ในลิฟต์, กลัวที่แคบ เป็นต้น

โรคกลัวสังคม (Social Phobia)

โรควิตกกังวลประเภทโรคกลัวสังคม โดยส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่เติบโตมาด้วยการขาดทักษะการเข้าสังคม ซึ่งผู้ที่ป่วยโรคนี้จะมีอาการวิตกกังวลกลัว รู้สึกไม่มีความมั่นใจ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้าสายตาของคนอื่น โดยอาการนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมโดยมีผู้คนอยู่มาก เช่น การแสดงออกหน้าชั้นเรียน, การพูดในที่ประชุม, เป็นต้น

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือก็คือโรควิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ กลัวที่จะทำความผิดพลาด จึงพยายามทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ หลายครั้งจนมากเกินความจำเป็น เพื่อให้ตัวเองมั่นใจว่าได้ทำสิ่งนั้นได้แล้วแบบไม่มีปัญหา โดยส่วนมากมักเกิดกับผู้คนวัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ

โรคแพนิค (PD)

โรคแพนิค เป็นหนึ่งในโรควิตกกังวลที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตื่นตระหนก หรือเกิดความหวาดกลัวต่อทุกสิ่งรอบตัวแบบไม่ทราบสาเหตุ โดยมักจะเกิดอาการทางร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น ใจสั่น, เจ็บหน้าอก, คลื่นไส้ เป็นต้น

โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD)

เป็นโรควิตกกังวลที่ผู้ป่วยได้ผ่านการเผชิญกับภาวะความเครียดขั้นรุนแรง หรือเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ในชีวิต โดยโรควิตกกังวลประเภทนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวที่จะเกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำขึ้น หรือรู้สึกเห็นภาพเหตุการณ์เดิมคอยซ้ำเติมอยู่ตลอด ถือเป็นโรคที่มีความอันตรายเพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยเครียดจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ 

 

การรักษาโรควิตกกังวล รักษาด้วยวิธีไหน ?

โรควิตกกังวลในปัจจุบันสามารถรักษาโรควิตกกังวลให้หายได้ ด้วยการเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ ในการตรวจหาประเภทของโรคที่เป็นอยู่ โดยวิธีรักษาหลัก ๆ จะใช้วิธีรักษาคือ การทำจิตบำบัดด้วยการพูดคุย เพื่อหาผู้ที่จะรับฟังปัญหาของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกได้ว่ามีผู้ที่เข้าใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ ร่วมกับการใช้ยารักษาทางจิตเวชโดยเฉพาะ จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และความคิดให้กลับมาเป็นปกติ 


โรควิตกกังวลสามารถป้องกันได้ไหม ?

อย่างที่ทราบกันดีว่าโรควิตกกังวลเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบการทำงานของสมอง และสามารถเกิดได้จากพันธุกรรม ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีที่เหมือนกับโรคอื่น ๆ แต่จะมีวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ก็คือ 

  • หลีกเลี่ยงการกินเครื่องดื่ม หรืออาหารที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะอาจจะไปกระตุ้นให้อาการวิตกกังวลเกิดขึ้นได้
  • การฝึกทำสมาธิเพื่อให้จิตใจรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย มองโลกในแง่บวก
  • ระวังการใช้ยาบางชนิด หรือการใช้สมุนไพรบางชนิดที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ ก่อนใช้ยาชนิดไหนควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • การปรึกษาจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการวิตกกังวล

วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรควิตกกังวล 

เมื่อตรวจพบแล้วพบว่ากำลังป่วยโรควิตกกังวล สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรเลิกกินยาก่อนแพทย์สั่งเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อาการวิตกกังวลกำเริบขึ้นได้ และยังต้องมีข้อปฏิบัติอื่น ๆ ในการรักษาโรควิตกกังวลด้วยตัวเองที่จะช่วยให้โรคนี้หายได้ไวยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยจะมีข้อแนะนำดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในทุก ๆ วัน
  • การดื่มน้ำให้เพียงพอ พร้อมกับรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ
  • ฝึกทำสมาธิให้สมองได้ผ่อนคลาย
  • รู้จักการฝึกควบคุมอารมณ์
  • พูดคุยกับคนในครอบครัว หรือคนสนิทให้มากขึ้น เพื่อหาคนรับฟังปัญหาต่าง ๆ 
  • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ห้ามใช้สารเสพติดทุกประเภท
  • หลีกเลี่ยงการพบเจอกับสิ่งที่จะทำให้เกิดอาการวิตกกังวลทั้งหมด
  • ก่อนใช้ยารักษาชนิดต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

สรุปโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลถือว่าเป็นโรคที่มีความใกล้ตัวกับผู้คนในปัจจุบันมาก เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากสภาวะทางสังคมที่กระทำต่อสภาพจิตใจโดยตรง ถือเป็นโรคที่ป้องกันยาก แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มีความสุข และมีร่างกายที่แข็ง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้มาก ซึ่งถ้าหากพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการวิตกกังวล ควรทำการเข้ารับการปรึกษากับทางจิตแพทย์โดยตรงก่อนที่อาการจะหนักขึ้นมากกว่าเดิม