โพลชี้ วัยรุ่นกว่า 80% ถ้าเข้าถึงความรู้เรื่องเพศ จะลดปัญหาท้องได้

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการแถลงผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โดย ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โครงการนี้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1-3 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,053 คน โดยแบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 45 เพศหญิงร้อยละ 54 เพศทางเลือกร้อยละ 1

ความคิดเห็นของวัยรุ่นต่อสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อันดับ 1 หรือร้อยละ 99 เห็นว่าวัยรุ่นมีสิทธิที่จะได้รับการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูเรื่องที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 98.9 คือให้สิทธิวัยรุ่นในการได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ ส่วนอันดับ 3 ร้อยละ 96.4 คือ ถ้าเป็นพ่อแม่วัยรุ่น จะได้รับสิทธิในการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ส่วนความคิดเห็นต่อสถานศึกษาในการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือและให้คำปรึกษา หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ คือ ให้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพศศึกษาอย่างรอบด้าน/วิธีการคุมกำเนิด เป็นอันดับ 1 หรือร้อยละ 93.7 อันดับ 2หรือร้อยละ 91.5 โรงเรียนต้องประสานหรือหาแหล่งช่วยเหลือด้านสังคม และอันดับ 3 ร้อยละ 90.1 คือ การจัดเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ตั้งครรภ์ส่งต่อระบบสวัสดิการสังคม

อย่างไรก็ดี ในเรื่องการรับรู้ วัยรุ่นส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.3 ไม่เคยรู้มาก่อนว่ากระทรวงสาธารณสุขมีการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่น ขณะที่มีวัยรุ่นร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่เคยใช้บริการมาก่อน

ด้านรูปแบบบริการของคลินิกวัยรุ่นที่ต้องการ หากจำเป็นต้องเข้ารับบริการ อันดับ 1 หรือร้อยละ 79.3 ต้องการให้เจ้าหน้าที่มีความเป็นมิตร ยิ้มแย้ม ปราศจากอคติ อันดับ 2 ร้อยละ 74.2 ช่วยรักษาความลับ และอันดับ 3 ร้อยละ 70.1 คือไม่มีค่าใช้จ่าย / ค่ารักษาพยาบาลฟรี โดยช่องทางที่จะติดต่อคลินิกวัยรุ่น อันดับ 1 ร้อยละ 87.6 เป็นโทรศัพท์สายด่วน อันดับ 2 ร้อยละ 81.0 ส่งข้อความทางอีเมล ไลน์ เฟซบุ๊ค และอันดับ 3 ร้อยละ 66.7 เข้าไปปรึกษาเจ้าหน้าที่คลินิกด้วยตัวเอง ทั้งนี้ วัยรุ่นทั้งในเขตกรุงเทพฯ เทศบาล หรือนอกเขตเทศบาล สะดวกในการใช้โทรศัพท์สายด่วนมากที่สุด

สำหรับความคิดเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น วัยรุ่นส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 73.9 เห็นว่าเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบจากกลุ่มเพื่อนและสื่อต่างๆ ขณะที่อันดับ 2 ร้อยละ 73.0 คือการดื่มแอลกอฮอล์ อันดับ 3 ร้อยละ 72.7 คือการพักอาศัยอยู่ตามลำพัง โดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ด้วย

ขณะที่ หากเพื่อนสนิทที่เรียนอยู่ด้วยกันตั้งครรภ์ในระหว่างเรียน วัยรุ่นส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 65.4 ยอมรับได้ โดยเพศหญิงยอมรับได้มากกว่าเพศชาย คือ ร้อยละ 70.1 และ 59.8 ตามลำดับ ส่วนคำแนะนำที่จะให้เพื่อนคือ บอกให้ไปปรึกษาพ่อแม่/ผู้ปกครองก่อน เป็นสัดส่วนอันดับ 1 หรือร้อยละ 69.3 ขณะที่การปรึกษาครู เป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 26.9 และคำแนะนำโดยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 50.0 จะแนะนำเพื่อนให้เรียนหนังสือต่อไปจนกว่าจะคลอดแล้วค่อยลาพัก

นอกจากนี้ วัยรุ่นร้อยละ 88.2 คิดว่าการเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับเพศวิถีศึกษาจะช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างจริงจัง เพราะทำให้วัยรุ่นมีความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้วิธีป้องกันตัวเอง