แพนิคคืออะไร ถ้าเป็นแล้วทำยังไงดี

แพนิคคืออะไร ถ้าเป็นแล้วทำยังไงดี

เราคงเคยได้ยินคำนี้อยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะเมื่อมีใครบางคนตื่นตระหนกเป็นพิเศษ คนรอบข้างก็จะเตือนว่า “ใจเย็นๆ อย่าแพนิค” ซึ่งอาจหมายถึง ท่าทีกระวนกระวายสับสน ลุกลี้ลุกลนจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน ทำให้คำว่าแพนิคถูกตีความเพียงพฤติกรรมที่แสดงออก

ทั้งที่จริงๆ แล้วแพนิคคืออาการทางจิตใจ ที่มีส่วนประกอบทั้งจากความรู้สึกกลัวเป็นอย่างมาก มีอาการทางกายที่เกิดขึ้นหลายอย่างจนควบคุมไม่ได้ อาทิ ใจสั่น มือสั่น ตัวเย็น หัวใจเต้นเร็วจนผู้นั้นเชื่อได้ว่าตนเองอาจมีโรคร้ายแรง และยิ่งพยายามสงบอาการดังกล่าวยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ มีความคิดว่าอาการดังกล่าวจะส่งผลถึงชีวิตและทำให้ตนเองตาย ซึ่งสามารถเขียนแสดงให้เห็นเป็นวงจรดังนี้

ซึ่งวงจรดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติและเกิดขึ้นไวในชั่วพริบตา ส่งผลให้เกิดความรู้สึกกลัวซ้อนขึ้นมาว่า “ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในที่สาธารณะจะทำอย่างไร ใครจะมองอย่างไร และใครจะช่วยเราไหม” ทำให้มักพบได้ว่าผู้ที่มีอาการแพนิคจะเก็บตัว ลดการออกไปมีปฏิสัมพันธ์หรือเผชิญกับสิ่งแวดล้อม อาจสะสมเป็นความคิดโทษตนเองและทำให้เกิดความเศร้าได้

เมื่อการดำเนินของโรคเป็นวงจร ดังนั้นการจัดการกับอาการแพนิคจึงค่อยๆ เริ่มจากการฝึกจัดการในแต่ละด้านโดยอาจเริ่มจาก

1.การระบายความทุกข์ใจในอาการให้กับผู้ที่จะพอเข้าใจ รับฟัง เพื่อการผ่อนคลายความรู้สึกทุกข์ที่สะสมมาและเพื่อมีมุมมองความคิดเห็นแบบใหม่จากบุคคลรอบข้างอย่างยืดหยุ่น

2.การจัดการอาการทางกาย ทั้งการฝึกการหายใจ การฝึกผ่อนเกร็งและผ่อนคลาย การฝึกการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อการกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งการฝึกการผ่อนคลายดังกล่าวควรกระทำอย่างสม่ำเสมอมากกว่าทำเฉพาะที่มีอาการ

3.การได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับอาการแพนิคว่า แม้จะมีอาการคล้ายกับโรคบางชนิด เช่นหอบเหนื่อย ใจเต้นเร็ว แต่การแปลความต่ออาการทางกายตามธรรมชาติที่บิดเบือนมากเกินกว่าความเป็นจริง (Catastrophizing normal physical symptom) ทำให้เป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกกลัวที่มากและส่งผลต่ออาการทางกายอย่างไร้การควบคุม

4.การเผชิญกับสถาการณ์ที่น่าหวาดหวั่นทีละเล็กละน้อยตามลำดับที่น่ากลัวจากน้อยไปหามาก หรือตามลำดับจากสถานการณ์ที่เชื่อว่าจะมีความช่วยเหลือจากคนอื่นสู่สถานการณ์ที่จะเผชิญเพียงลำพัง

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการเบื้องต้นในการดูแลตนเองสำหรับผู้ที่มีอาการแพนิคและกำลังรู้สึกเป็นทุกข์จากอาการดังกล่าว หากแต่ในรายที่มีอาการอย่างมากควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องเพราะอาการแพนนิคสามารถหายขาดได้

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น