“เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน” เสียงเพลงคุ้นหูในวันเด็กที่ถูกนำมาเปิดทุก ๆ ปี เพลงที่บอกถึงการให้คุณค่าและการตั้งความหวังของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ๆ แต่มีใครเคยคิดสงสัยไหมว่าหน้าที่ทั้ง 10 ข้อตามที่เพลงว่านั้น เป็นนิยามของการเป็นเด็กดีจริง ๆ หรือเปล่า..
“หนึ่งนับถือศาสนา” ว่าแต่…ศาสนาที่ว่านี่คือศาสนาอะไร? ใช่ ศาสนาที่พ่อแม่นับถือแล้วเราต้องยึดถือไปด้วยอันนั้นน่ะหรือ ถ้าความเชื่อของเราตรงกับศาสนาที่เรานับถือก็ดีไป แต่จะมีสักกี่คนที่ได้เลือกนับถือศาสนาตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่เพียงนับถือตามบัตรประชาชน และในปัจจุบันกลุ่มคนที่ไม่นับถือศาสนาก็มีเพิ่มมากขึ้น แล้วคนเหล่านั้นกลายเป็นคนไม่ดีไปแล้วหรือเปล่า? อย่าว่าแต่ไปถามเด็กเลย ผู้ใหญ่ด้วยกันจะตอบคำถามนี้อย่างไร
“สองรักษาธรรมเนียมมั่น” แล้วถ้าหากว่าธรรมเนียมบางอย่าง ได้กลายเป็นธรรมเนียนที่เก่าแก่และไม่เข้ากับยุคสมัย และเด็ก ๆ เกิดความคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนล่ะ? เด็กคนนั้นจะกลายเป็นเด็กไม่ดีหรือเปล่า?
นี่เป็นเพียงสองข้อจาก 10 ข้อเท่านั้น เพราะถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะไม่เข้าเกณฑ์การเป็นเด็กดีแล้ว ส่วนในข้ออื่น ๆ ที่ดี ถ้าเราทำได้แล้วดีก็มีหลายข้อ จริงอยู่ที่ว่ามันก็เป็นแค่เนื้อเพลง แต่การที่เราฝากความคาดหวังและตั้งข้อกำหนดขึ้นมาให้กับเด็ก ๆ โดยที่เด็กเองไม่ได้มีส่วนร่วม และหากไม่ทำตามทั้ง 10 ข้อก็จะไม่ใช่คนดีเนี่ย มันไม่เป็นการตัดสินกันเกินไปหน่อยหรอ?
สุดท้ายแล้วการเป็นเด็กดี ต้องเป็นอย่างไร ก็ยังตอบกันได้ไม่หมด ตัดกันไม่ถูก.. ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบไปตัดสินเด็ก ๆ เลย ให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้ และเลือกในสิ่งที่เหมาะกับตัวเขาที่สุดเถอะ เพราะนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ “ดี” กับตัวเขาอย่างแท้จริง เพราะ “เด็กสมัยชาติพัฒนา จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ” ไงล่ะ