รับฟังวัยรุ่นอย่างไรให้เกิดการสื่อสารที่ดี

รับฟังวัยรุ่นอย่างไรให้เกิดการสื่อสารที่ดี

              หลายคนอาจมองว่าการสื่อสารกับวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะวัยรุ่นอาจแสดงออกถึงอาการไม่อยากพูดคุย ไม่อยากแสดงออกถึงความคิดเห็นของตัวเอง หรือหงุดหงิดง่าย ซึ่งทำให้วัยรุ่นถูกมองว่ามีอารมณ์ที่รุนแรง หากลองสังเกตลักษณะทางอารมณ์ของวัยรุ่น ก็จะพบว่าเป็นวัยที่อารมณ์อ่อนไหวง่ายและไม่คงที่ แต่อารมณ์เหล่านี้เป็นเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง  และอยากที่จะแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นให้คนอื่นได้รับรู้ หากความคิดเหล่านั้นได้รับการโต้แย้ง หรือขัดขวางทางความคิด ก็อาจเป็นเหตุที่ทำให้วัยรุ่นแสดงออกถึงอารมณ์ที่รุนแรง ในบทความนี้จึงอยากจะนำเสนอถึงทักษะการรับฟังความคิดเห็นของวัยรุ่น เพื่อให้มีการสื่อสารที่ดี และไม่เกิดความขัดแย้งขึ้น

              ทำไมเราถึงให้ความสำคัญไปที่ทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) เหตุผลเพราะความเป็นวัยรุ่นนั้นจะเริ่มมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นหากไม่ตรงกับผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป แต่หากเราต้องการที่จะเสนอมุมมองผ่านประสบการณ์ของเราที่มากกว่านั้น อย่างแรกที่ควรทำก็คือ การกระตุ้นให้วัยรุ่นพูดและแสดงออก สร้างทัศนคติให้วัยรุ่นรู้สึกว่า ผู้ใหญ่กำลังสนใจและรับฟัง ซึ่งก็คือการรับฟังอย่างตั้งใจนั่นเอง การรับฟังอย่างตั้งใจคือ การที่ผู้ใหญ่แสดงให้วัยรุ่นรับรู้ได้ว่ากำลังสนใจฟัง จดจำรายละเอียด พยายามเข้าใจความคิดและความรู้สึก สอบถามในสิ่งที่สงสัยในคำพูดของวัยรุ่นเพื่อให้วัยรุ่นได้ขยายความ และใช้การทบทวนความคิดเหล่านั้นโดยการถามความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ เป็นระยะ หากเกิดความคิดที่ขัดแย้ง อย่ารีบร้อนที่จะตักเตือนหรือสั่งสอน แต่ให้ฟังสิ่งที่วัยรุ่นกำลังพูดให้จบ เพราะถ้าวัยรุ่นรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ได้เปิดใจที่จะรับฟังทั้งหมด ก็จะทำให้วันรุ่นเลือกที่จะไม่พูดหรือหยุดการเปิดเผยสิ่งที่ตนเองคิด เพราะเข้าใจว่าผู้ใหญ่ไม่รับฟัง

              การสื่อสารที่ดีกับวัยรุ่นควรเป็นการสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) คือ นอกจากการพูดกับวัยรุ่นก็ควรมีการรับฟังด้วยนั่นเอง การรับฟังซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด เราจะสรุปทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจได้ดังนี้

  1. ตั้งใจและสนใจฟัง โดยสายตาให้จับอยู่ที่วัยรุ่น ให้มีการสบตากันเกิดขึ้น เพื่อแสดงออกถึงการรับฟัง
  2. ขณะรับฟัง ให้สังเกตสีหน้า แววตา น้ำเสียง และพฤติกรรมที่วัยรุ่นแสดงออกมา
  3. พยายามทำความเข้าใจ หรือจับประเด็นสิ่งที่วัยรุ่นกำลังพูด ทั้งคำพูดที่ชัดเจนและคำพูดที่แฝงเร้น
  4. ไม่ขัดจังหวะในระหว่างการพูดของวัยรุ่น เพราะอาจทำให้วัยรุ่นหยุดการเปิดเผยความคิด
  5. ควรมีการโต้ตอบ และถามคำถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
  6. ไม่ด่วนสรุปความคิดเห็นของวัยรุ่น รับฟังสิ่งที่วัยรุ่นพูดทั้งหมดให้ครบถ้วน

              การทำความเข้าใจในวัยรุ่นที่อาจจะมีอารมณ์ที่รุนแรงจากการพูดคุยกับผู้ใหญ่ และยังไม่สามารถรับมือหรือควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีมากนัก หากเรามีการรับฟังสิ่งที่วัยรุ่นต้องการจะสื่อสารอย่างเข้าใจ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งได้น้อยลง เพราะวัยรุ่นไม่ได้ต้องการที่จะมีความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ หรือที่มักเรียกกันว่า หัวดื้อหัวรั้น วัยรุ่นเพียงแต่ต้องการความเข้าใจและการรับฟังอย่างตั้งใจเพื่อให้เกิดความรู้สึกกับตัวเองว่าการที่เขามีความคิดเห็นเป็นของตัวเองเป็นที่สิ่งที่แลกเปลี่ยนได้และมีคนพร้อมที่จะทำความเข้าใจและยอมรับเท่านั้นเอง

คลิกที่นี่ !!
link : แบบสำรวจภาษารักของฉัน
link : เว็บไซต์เลิฟแคร์สเตชั่น

อธิญา ยุทธนาศาสตร์

นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์

ข้อมูลอ้างอิง