ปัจจัยป้องกันที่สำคัญต่อจิตใจ

ปัจจัยป้องกันที่สำคัญต่อจิตใจ

แม้เป้าหมายในการทำงานด้านจิตบำบัด คือการเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดปัญหา และสิ่งที่ทำให้ปัญหาด้านจิตใจยังดำเนินต่อ เพื่อวิเคราะห์ วางแผนร่วมกับผู้รับบริการ เพื่อมีมุมมองใหม่ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไปพร้อมๆ กับเพิ่มทักษะที่จะช่วยให้จิตใจได้รับการดูแล แต่ข้อมูลสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในการบำบัดรักษาด้านจิตใจ คือ ปัจจัยป้องกัน หรือปัจจัยด้านบวก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้รับบริการผ่านเรื่องเลวร้ายในชีวิตมาได้ด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ความเจ็บป่วยที่กำลังดำเนินอยู่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นด้วยปัจจัยเหล่านี้

หากแบ่งประเภทของปัจจัยออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อความชัดเจน สามารถแบ่งได้ด้วยหลากหลายหลักการ แต่หลักการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายคือการมองความสัมพันธ์ของปัจจัย 3 ประการ Biological  (สมองและร่างกาย) Psychological (ส่วนลึกในใจและทักษะในการจัดการปัญหา)  Social (สังคมและสิ่งแวดล้อม)

ถ้าคนตรงหน้าคือผู้ป่วย นักบำบัดจะมองหาสิ่งที่เป็นปัจจัยบวกจากทั้งสามมิติ

Biological ด้านสมองและร่างกาย เช่น ผู้ป่วยมีระดับสติปัญญาปกติ ทานยาที่แพทย์เฉพาะทางสั่งตามเวลา ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร

Psychological ด้านส่วนลึกในใจและทักษะในการจัดการปัญหา เช่น ผู้ป่วยมีแรงจูงใจที่ดีในการรักษา มีทักษะในการรู้เท่าทันอารมณ์ และทักษะในการเข้าใจผู้อื่น

Social ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ครอบครัวสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษา ชุมชนแสดงความเข้าใจ ที่ทำงานไม่กีดกันสิทธิ์ในการทำงาน แม้ผู้ป่วยต้องใช้วันลามากกว่าปกติในการเข้ารับการบำบัด

หากแต่ ในการให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านบวก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องบำบัดเท่านั้น เพราะปัจจัยด้านบวกเป็นปัจจัยปกป้องความเจ็บป่วยด้านจิตใจให้เกิดน้อยลง หรือให้เกิดขึ้นในระดับที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ และสามารถมีมุมมองต่อปัจจัยป้องกันได้หลากหลายมุมมอง ตามช่วงเวลาของการพัฒนามนุษย์คนนึงจากวัยเด็กสู่วัยรุ่นจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้

            ปัจจัยเกี่ยวกับตัวเด็ก

  • มีสุขภาพกายและพัฒนาการตามวัย
  • เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายหมายรวมทั้งการกิน การนอน และกิจวัตร
  • มีทักษะสังคมและอารมณ์ที่ดี
  • มีความสามารถทางสติปัญญาตามวัย
  • มีความสามารถด้านภาษาตามวัย

            ปัจจัยจากครอบครัว

  • ครอบครัวมั่นคงในหลายมิติ ตั้งแต่จิตใจ อารมณ์ หรือกระทั่งสถานะการเงิน
  • มีความผูกพันผ่านการสัมผัสทางร่างกาย และเวลาคุณภาพ
  • ใช้การสื่อสารสองทางในครอบครัว
  • มีการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตย
  • ส่งเสริมทักษะในการบริหารจัดการและการดูแลตัวเองตามวัย
  • มีท่าทีอบอุ่น ปลอดภัย เป็นมิตร ทั้งในยามปกติ และยามที่เด็กประสบปัญหาอารมณ์

            ปัจจัยจากระบบต่างๆ

  • สามารถเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับทักษะของระบบสังคมและเศรษฐกิจ
  • ได้รับสิทธิ์ในการรักษากายและใจด้วยความรู้สึกดี
  • ผู้คนที่อยู่ในระบบเห็นอกเห็นใจและเห็นความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งในระบบ
  • มีเครือข่ายที่จะส่งต่อเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

            ปัจจัยจากเหตุการณ์ในชีวิต

  • อบอุ่น มีความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมาพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย
  • มีผู้ดูแล และมีส่วนได้ดูแลซึ่งกันและกันกับบุคคลสำคัญในชีวิต

            ปัจจัยจากสังคม

  • ปลอดภัย ได้รับสวัสดิการตามที่ควรจะเป็น
  • มีสิทธิ์ และเป็นส่วนหนึ่งอย่างเท่าเทียมทางสังคม
  • มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ

ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีปัจจัยจำนวนมากทั้งจากจุดในสุดคือตัวเด็กเอง ไปจนกระทั่งสังคมโดยภาพรวมที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไปจะทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ อาทิ มีคนหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมแต่มีครอบครัวอบอุ่น ฝึกทักษะอาชีพตามความจำเป็นของชุมชน ทั้งยังเปิดใจรับฟังเมื่อทุกข์ใจทำให้คนเหล่านั้นอาจไม่ทุกข์ใจจากการไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการศึกษาได้ หากแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถส่งเสริมปัจจัยด้านบวกให้ได้ทั่วถึงและเท่าเทียม ย่อมส่งผลดีในการป้องกันปัญหาด้านจิตใจไปพร้อมๆ กับการได้พัฒนาผู้คนในสังคม

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น