ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ประจำเดือนคืออะไร?
​ประจำเดือน (Menstruation) คือเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนเกิดจากการที่สมองหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยฮอร์โมนทั้งสองชนิดจะควบคุมการสร้างและหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ระดับฮอร์โมนจะมีความสัมพันธ์กับการตกไข่จากรังไข่ ในแต่ละเดือนจะมีไข่ตกเดือนละ 1 ฟอง ฮอร์โมนจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อเตรียมรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน หากไม่มีการปฏิสนธิหรือไม่มีการตั้งท้องเกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

ประจำเดือนปกติเป็นอย่างไร

  • ​· ผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุกๆ 28-30 วัน (หรืออยู่ในช่วง 21-35 วัน)
  • ​· ประจำเดือนจะมาประมาณ 3-5 วัน หรือไม่ควรมาเกิน 7 วัน
  • ปริมาณประจำเดือนที่ออกมาในแต่ละวันไม่ควรเกิน 80 มิลลิลิตร หรือเทียบได้กับการเปลี่ยนผ้าอนามัยที่มีเลือดเต็มแผ่นประมาณ 4 ผืนต่อวัน

ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นอย่างไร
​ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) หมายถึงภาวะใดภาวะหนึ่งที่ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตามปกติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

​1. ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือผู้หญิงอายุ 15 ปีแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอายุ 11-14 ปี
2. ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary amenorrhea) คือผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาก่อน แต่ต่อมาประจำเดือนขาดหายไปอย่างน้อย 3 รอบเดือน

สาเหตุของภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ
ในบทความนี้จะพูดถึงภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ เพื่อนๆ หลายคนที่ไปมีเพศสัมพันธ์มา แล้วประจำเดือนขาดหายไป อาจจะกังวลว่าจะตั้งท้อง แต่อันที่จริงเเล้ว สาเหตุของการขาดประจำเดือนของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีได้หลายสาเหตุ 

สาเหตุที่พบบ่อย เช่น

  1. ​การตั้งท้อง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการขาดประจำเดือน โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  2. ​ความเครียดทางด้านจิตใจ (Stress) เนื่องจากความเครียดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน เช่น ฮอร์โมนกอร์นาโดโทรปินรีลีซซิงฮอร์โมน [ gonadotropin releasing hormone(GnRH) ]
  3. ​การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานๆ
  4. ​ระยะหลังคลอดบุตรหรือให้นมบุตร
  5. ​วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน

สาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อย เช่น

  1. ​กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง [polycystic ovary syndrome (POCS)]
  2. ​ภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์
  3. ​เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต หรือรังไข่
  4. ​ภาวะโลหิตจาง
  5. ​ภาวะไตวายเรื้อรัง
  6. ​ตับแข็ง
  7. ​โรคชีแฮน (Sheehan’s syndrome )
  8. ​โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) 
  9. ​การตีบตันของช่องคลอด ปากมดลูก หรือโพรงมดลูก เนื่องจากพังผืดหลังการอักเสบหรือหลังการขูดมดลูก
  10. ​การมีรูปร่างผอมหรืออ้วนเกินไป
  11. ​โรคกลัวอ้วน (Anorexia nervosa)
  12. ​นักกีฬามาราธอนหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก
  13. ​การฉายรังสี
  14. ​การให้ยาเคมีบำบัด
  15. ​การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้า,ยารักษาไทรอยด์,ยา steroids
  16. ​การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
  17. ​ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง
  18. ​ภาวะขาดอาหาร

วิธีการรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ

​1. อันดับแรก ต้องตรวจปัสสาวะ ว่าตั้งท้องหรือไม่ ถ้าเกิดจากการตั้งท้องหรือโรคกังวลใจ ให้รักษาตามสาเหตุนั้นๆ  ​2. หากตรวจปัสสาวะแล้วพบว่าไม่มีการตั้งท้อง แล้วไปพบเเพทย์ แพทย์อาจให้ยาโปรเจสโตเจน (Progestogen) เพื่อทดสอบการทำงานของรังไข่ ถ้าผลพบว่ารังไข่อาจมีความผิดปกติ  อาจทดสอบต่อโดยการทำเอสโตรเจน โปรเจสติน ชาเลนจ์ เทส ( Estrogen-Progentin challenge test) ซึ่งการขาดฮอร์โมนจากรังไข่ อาจเกิดจากรังไข่ไม่ทำงาน จะต้องหาสาเหตุและรักษาต่อไป
​3. หาสาเหตุของโรคอื่นๆ เช่นโรคของต่อมไทรอยด์, เนื้องอกในสมอง, กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง และรักษาตามสาเหตุ
4. ดูแลตนเองในด้านต่างๆ  พยายามไม่เครียด ปรับพฤติกรรมการทำงาน ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างเหมาะสม เน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
5. ในกรณีที่ไม่สามารถหาสาเหตุแน่ชัดและร่างกายยังเป็นปกติดีทุกอย่าง แพทย์อาจให้รออาการประมาณ 3 เดือน ถ้ายังไม่มีประจำเดือนควรกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจหาสาเหตุที่อาจรุนแรงได้

วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ เมื่อประจำเดือนไม่มา (อาการแต่ละคนแตกต่างกันได้)

​1. คลื่นไส้อาเจียน หรืออาการแพ้ท้อง มักเกิดขึ้นในช่วงเช้า
2. อ่อนเพลีย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในระยะแรกของการตั้งครรภ์ เหนื่อยหรือง่วงระหว่างวันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
​3. ปัสสาวะบ่อย จากมดลูกที่ขยายตัวขึ้นในระยะสามเดือนแรกจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
4. หน้าอกอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น, นิ่ม, รู้สึกหนักขึ้น บริเวณหัวนมหรือรอบหัวนมอาจมีสีเข้มขึ้น

แม้ว่าการตั้งท้องจะเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะขาดประจำเดือนไม่มาตามปกติ แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก ดังนั้นเพื่อนๆ ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติจึงควรสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อจะได้พบสาเหตุและทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

SCORA x Lovecarestation

อ้างอิง

  1. Amenorrhea: A Systematic Approach to Diagnosis and Management. Retrieved 19 July 2020, from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31259490/
  2. (2020). Retrieved 15 September 2020, from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/6764754/5
  3. Evaluation and management of adolescent amenorrhea. In Annals Of The New York Academy Of Sciences (14 September 2010). Retrieved 19 July 2020, from https://nyaspubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1749-6632.2010.05669.x
  4. 30 สาเหตุที่ประจําเดือนไม่มา (ประจำเดือนขาด) ใช่ว่าตั้งครรภ์เสมอไป !!. (24 October 2017). In Medthai. Retrieved 19 July 2020, from https://medthai.com/ประจำเดือนไม่มา/
  5. ประจำเดือนมาไม่ปกติ บอกอะไร? (Amenorrhea). (24 August 2018). In Siriraj Piyamaharajkarun Hospital. Retrieved 19 July 2020, from https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/827

จัดทำโดย
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)

Content Creator
นางสาวพิม เสริมศักดิ์ศศิธร นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

Artwork
นายภูมภัสส์ อัครชัยสิริลาภ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Editor
นางสาวมณีพรรณราย จิวจินดา นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแพทย์จุฬาภรณ์
นางสาวมินนี่ ผดุงเกียรติสกุล นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล