คุณเป็นเพื่อนแบบไหน?

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอยู่รวมกลุ่ม การคบหาเพื่อนฝูง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเติมเต็มความสุขและความสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์ได้ เนื่องจาก “เพื่อน” เป็นกลุ่มคนที่สามารถให้ความช่วยเหลือ ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา และมักจะมีความเข้าใจในตัวเรามากกว่าคนอื่น ๆ เพราะมักจะอยู่ในช่วงวัยที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วงวัยรุ่นหรือวัยของน้อง ๆ ก็ถือได้ว่า “เพื่อน” เป็นแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับการไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในทุก ๆ วันเลยทีเดียว

แต่ถ้ามัน ‘ไม่ใช่’ สำหรับเราล่ะ?  ถ้ามันตรงกันข้ามกันล่ะ

ก็ “เพื่อน” นั่นแหละเป็นคนที่ทำให้เราไม่อยากไปโรงเรียน …

“ทำไมไปโรงเรียนแล้วมีแต่คนคอยแกล้ง…

ทำไมรู้สึกว่าเราเข้ากับใครไม่ได้เลย…

ทำไมถึงไม่มีใครอยากคุยกับเรา…

เราเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า…”

ใครบางคนอาจเคยตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง เมื่อรู้สึกเริ่มจะไม่มึความสุขที่จะไปโรงเรียนแล้ว  พยายามคิดหาคำตอบต่าง ๆ นานา แต่ก็ไม่เจอทางออก เพราะอะไรความ “แตกต่าง” เล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้เรากลายเป็นคนที่ “แปลกแยก” จากคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ ลักษณะทางร่างกายของเรา หรือค่านิยมต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องสนุก ตลก จุดอ่อน ที่เพื่อนใช้มาหยอกล้อ แกล้งเรา หรือสร้างความสุขให้ตัวเองแทน โดยไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ทำนั้นสามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเพื่อนได้ หรือหลงลืมไปว่าคนที่เรียกว่าเพื่อน กำลังรู้สึกยังไง เจ็บเป็น เสียใจเป็น ร้องไห้เป็น

การไม่พูด ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึก แต่เพราะคำว่าเพื่อนนั่นแหละ ที่ทำให้พูดยาก “เล่นแค่นี้ไม่ได้หรอ…”  “อย่าไปยุ่งกับคนนั้นสิ…”  บางคนอาจเกิดความรู้สึกเชิงลบต่อตนเอง (โทษตัวเอง)  คนรอบข้าง หรือสถานการณ์นั้น ๆ กลายเป็นความคับข้องใจที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น ซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเจอเพื่อน จนหลีกหนีการเข้าสังคมเลยก็มี

ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วย “เพื่อน” หลากหลายประเภท ทั้งคนที่สามารถเป็นเพื่อนแท้แบบที่ใครหลายคนต้องการที่จะมี หรือ เพื่อนที่ทั้งชีวิตนี้ไม่ต้องการจะเจอ

แล้วเราเคยถามตัวเองไหมว่าเราเป็นเพื่อนแบบไหน เป็นเพื่อนที่สร้างความสุข หรือ สร้างความทุกข์ให้กับคนอื่นมากกว่ากัน ?

Kai-tom